ระบบการดูแลสุขภาพของเอเชียอาจเรียกได้ว่าเป็นระบบที่ซับซ้อนและท้าทายที่สุดในบรรดาระบบการดูแลสุขภาพทั่วโลก แม้ว่า GDP จะมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วกว่าในตลาดที่มีความมั่นคงอื่นๆ แต่การเติบโตนี้ยังไม่เพียงพอที่จะไล่ตามให้ทันกับความต้องการของประชากรที่มีการแก่ตัวอย่างรวดเร็วและเกิดโรคเรื้อรังเพิ่มสูงขึ้น ทวีปเอเชียกำลังจะมีอัตราส่วนพึ่งพิงวัยชราที่สูงที่สุด รวมถึงอัตราความชุกของโรคสูงที่สุดในโลก ซึ่งนี่ถือเป็นความท้าทายที่อาจทำให้ระบบการดูแลสุขภาพต้องรับภาระมากเกินควร ทำให้ระบบตกต่ำลงแทนที่จะรุ่งเรืองยิ่งขึ้น ตลาดการดูแลสุขภาพของเอเชียที่ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ จะมีความต้องการใช้งานเตียงโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นอีกนับล้านเตียงภายในเวลาเพียง 10 ปีและต้องใช้งบประมาณการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าเพื่อให้บริการด้วยมาตรฐานเท่าเดิมดังที่เห็นกันในปัจจุบัน
นอกเหนือจากความท้าทายดังกล่าวแล้ว ชนชั้นกลางที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเองก็มีความคาดหวังต่อผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสถาบันการแพทย์ที่ให้บริการตนสูงขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะระดับความรู้ทางด้านสุขภาพของกลุ่มคนเหล่านี้ที่เคยต่ำเตี้ยเรี่ยดิน กลับพัฒนาขึ้นอย่างมาก อีกทั้งผู้ป่วยก็สร้างความตระหนักรู้ต่อ "การบริการอย่างดี" ที่ควรจะเป็น จากการที่ผู้ใช้ปลายทางเข้าถึงข้อมูลได้อย่างอิสระ และการเคลื่อนไหวระดับโลกในการปรับปรุงความโปร่งใสของมาตรฐานคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ประเด็นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะเมื่อเราพบเห็นระเบียบอันหละหลวมเป็นปกติอยู่ในตลาดการดูแลสุขภาพของเอเชีย ซึ่งมีมาตรฐานหรือขั้นตอนการเฝ้าสังเกตอันเป็นที่ยอมรับระดับโลกเพียงไม่กี่อย่างเท่านั้น และแม้ว่าสถานะของแพทย์ในสังคมเอเชียจะยังคงอยู่ในระดับสูง แต่ก็เริ่มมีการตระหนักถึงสิทธิของผู้ป่วยและผู้บริโภคมากขึ้นและมีความกล้าที่จะตั้งข้อสงสัยในการตัดสินใจทางการแพทย์มากยิ่งขึ้น
ส่วนผสมนี้ ทั้งภาระงานหนัก การขาดมาตรฐานและระเบียบ และความคาดหวังจากผู้ป่วยที่สูงขึ้น ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่แสดงถึงความเสี่ยงหลายประการ ซึ่งจะปรากฏออกมาในรูปของคำร้องค่าสินไหมทดแทนจากความรับผิดสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างแน่นอน สิ่งที่มาควบคู่กับการร้องเรียนในความถี่สูงขึ้น ยอดเงินค่าสินไหมทดแทนก็น่าจะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะทวีปเอเชียมีอัตราการเฟ้อของค่ารักษาพยาบาลสูงที่สุดในโลก โดยตลาดบางแห่งอย่างเช่นฮ่องกงและสิงคโปร์มีค่ารักษาพยาบาล รพ.เอกชนในระดับเทียบเท่าหรือเกินกว่าราคาที่พบได้ในตลาดสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว โดยทั่วไป ความคุ้มครองความรับผิดสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์จะครอบคลุมการสูญเสียรายได้ ดังนั้น จำนวนเงินเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจึงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นตามอัตราเฟ้อที่เห็นได้ในภาคส่วนนี้
ความรับผิดสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์มักเป็นปัญหาหนักขึ้นจากการขาดแคลนกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้ามากำกับควบคุมชุมชนการแพทย์อย่างจริงจัง และในตลาดเอเชียส่วนใหญ่ สายการแพทย์มักจะปกครองดูแลตนเองกันเป็นเรื่องปกติ เมื่อผนวกรวมเข้ากับฐานข้อมูลที่ขาดแคลนแล้ว ทำให้ระดับความรับผิดชอบในปฏิบัติการและผลลัพธ์ทางการแพทย์ต่ำมากเมื่อเทียบกับมาตรฐานต่างๆ ที่พบได้ในตลาดอื่นที่มีความมั่นคงมากกว่านี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ในตลาดเกิดใหม่หลายๆ แห่งในเอเชียแทบจะไม่เคยประสบกับการถูกสอบข้อเท็จจริงในเรื่องการปฏิบัติงานที่ไม่เหมาะสม และมีเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่ถูกระงับใบประกอบโรคศิลป์ ทำให้ผู้ป่วยมองว่าการฟ้องร้องเป็นที่พึ่งสุดท้ายที่ตนจะสามารถทำได้
นอกจากนั้น วิธีการจัดระเบียบแพทย์และผู้ให้บริการทางการแพทย์ในเอเชียยังมีการแบ่งแยกกันอย่างมาก ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นกับระบบการดูแลสุขภาพเช่นนี้ทำให้เราสูญเสียชีวิตไปมากมาย อัตราการเจ็บป่วยและอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในตลาดที่มีความไม่เสมอภาคในด้านเงินจูงใจ รูปแบบการให้ความดูแล และกิจกรรมทางการแพทย์ ในเอเชีย ผู้ให้บริการจะทำงานแบบสองมาตรฐานมากกว่า โดยทำงานภายใต้กรอบระเบียบที่หละหลวม ซึ่งต่างจากตลาดที่มีความมั่นคงอื่นๆ ในฮ่องกง จีน และสิงคโปร์ เตียงในโรงพยาบาลเอกชนมากกว่า 95% ให้บริการโดยผู้ให้บริการโรงพยาบาลซึ่งมีขนาดเตียงน้อยกว่า 1,500 เตียง ซึ่งตรงข้ามกับตลาดที่มีความมั่นคงมากกว่าอย่างสิ้นเชิง ซึ่งจะพบได้ว่าผู้ให้บริการคือกลุ่มหรือเครือโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่กว่า
แม้ว่าทั้งโรงพยาบาลเดี่ยวหรือโรงพยาบาลในเครืออาจมีคุณภาพในระดับเทียบเท่ากัน แต่โรงพยาบาลประเภทแรกมีแนวโน้มที่จะมีความเชี่ยวชาญในเชิงกว้างและเชิงลึกมากกว่า มีความสามารถในการรวมบริการเฉพาะทางเข้าสู่ศูนย์กลางในลักษณะที่ผลักดันให้เกิดคุณภาพได้มากกว่า และอยู่ในตำแหน่งที่สามารถลงทุนกับระบบไอที ระบบประกันคุณภาพและกิจกรรมพัฒนาในเครือได้มากกว่า ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อทั้งตัวแพทย์เองและตัวองค์กรโดยรวม ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้บ่งบอกถึงอัตราคำร้องค่าสินไหมทดแทนจากความรับผิดสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างสม่ำเสมอทั่วเอเชีย ยิ่งมีการปรับใช้ระดับความโปร่งใสผ่านการปฏิรูประบบของรัฐบาลล่าช้า และยิ่งเห็นแนวปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยทั้งดีและแย่ได้ชัดเจนมากขึ้นเท่าไหร่ โรงพยาบาลและแพทย์ก็จะต้องเผชิญกับการถูกสอบข้อเท็จจริงมากขึ้นเท่านั้น แม้ว่าสุดท้ายแล้วเรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องดีและทำให้เกิดการปฏิรูประบบการดูแลสุขภาพเพื่อให้มีรูปแบบการดูแลที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นและมีความแปรปรวนน้อยลง แต่ในระยะอันใกล้คงจะเห็นการฟ้องร้องต่อไปจนกว่าจะมีการนำขั้นตอนเชิงรุกมาปรับใช้จริง
แหล่งข้อมูล: กลุ่มบริษัทเอเชีย แคร์
สงวนลิขสิทธิ์ @ ชับบ์ 2022 เนื้อหาในเอกสารนี้มีขึ้นเพื่อให้ข้อมูลเท่านั้น และจะไม่ถือว่าเป็นการให้คำแนะนำใด ๆ โปรดตรวจสอบข้อกำหนด เงื่อนไข และข้อยกเว้นฉบับสมบูรณ์ของนโยบายของเราเพื่อพิจารณาความเหมาะสม ความคุ้มครองอาจได้รับการรับประกันโดยบริษัทชับบ์ หรือบริษัทในเครือข่ายอย่างน้อยหนึ่งราย สิทธิความคุ้มครองและบริการบางอย่างอาจไม่สามารถใช้ได้ในบางประเทศและบางเขตพื้นที่ ชับบ์® และประทับตราพาณิชย์ของชับบ์ Insured.SM เป็นเครื่องหมายการค้าของชับบ์ที่ได้รับการคุ้มครอง
โปรดติดต่อเราเพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับการปกป้องคุ้มครองจากความเสี่ยงต่างๆ