ใครที่มีการวางแผนเพื่อการเก็บออมอยู่แล้วเป็นประจำทุกเดือนนับว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่หากเป็นแบบเก็บเงินไปเรื่อยๆ ตามจำนวนเงินที่เหลือใช้ และพอเก็บไปสักพักก็นำไปซื้อของที่ต้องการ ข้อดีคือไม่มีหนี้ แต่จะดีกว่าหากเรากำหนด “เป้าหมายการออม” อย่างชัดเจนขึ้น เพื่อให้มองเห็นภาพความจำเป็นในอนาคตและเตรียมเก็บเงินไว้ล่วงหน้าได้อย่างเพียงพอกับเป้าหมายนั้นๆ
ข้อนี้เป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ พอมีรายได้เข้ามาก็แบ่งส่วนเก็บไว้ก่อน กำหนดไว้ก่อนเลยว่าอย่างน้อยไม่ควรต่ำกว่า 10% ของรายได้ แต่ถ้าหากเก็บได้มากกว่านั้นก็ยิ่งดี เพราะจะทำให้เก็บเงินได้ตามเป้าหมายได้เร็วขึ้น เช่น เงินเดือน 30,000 บาท เก็บออมเดือนละ 3,000 บาท ถ้าได้โบนัสประจำปีเพิ่มมาก็อาจจะออมเพิ่มได้อีก
การกำหนดเป้าหมายเก็บเงินตามแผนที่วางไว้ เช่น อาจจะวางแผนซื้อคอนโดซักห้องเพื่อจะได้เลิกจ่ายค่าเช่าห้องแล้วหันมาผ่อนจ่ายห้องของเราเอง ต้องเก็บเงินวางเงินดาวน์ 150,000 บาท ภายใน 2 ปีข้างหน้า หรือเก็บเงินซัก 30,000 บาท เพื่อเที่ยวต่างประเทศซักครั้งในปีหน้า เป็นต้น
ถ้าเป้าหมายที่วางไว้เป็นแบบระยะสั้น (ไม่เกิน 2 ปี) ควรเลือกเก็บเงินไว้กับทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงต่ำ (แต่อาจจะได้ผลตอบแทนไม่สูงมาก) เพราะถ้าต้องใช้เงินในระยะเวลาอันสั้น หากเลือกลงทุนแบบที่มีความเสี่ยงสูงแล้วขาดทุนจะทำให้ไม่สามารถเก็บเงินทันเวลาได้ กรณีเช่นนี้อาจเลือกฝากเงินแบบ “บัญชีเงินฝากประจำแบบปลอดภาษี 2 ปี” เพื่อสร้างวินัยที่ต้องออมเงินทุกเดือนด้วย หรือหากเป้าหมายระยะยาว เช่นเก็บเงินไว้ใช้หลังวัยเกษียณ อาจจะลงทุนที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้บ้างตามช่วงอายุและระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับตนเอง เพราะการเก็บเงินในระยะยาวอย่างน้อยก็ควรได้รับผลตอบแทนมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ เพื่อไม่ให้คุณค่าของเงินที่เก็บถดถอยไปตามเวลา
อาจจะทบทวนเป็นประจำทุกปี เพื่อสำรวจความต้องการของเราด้วย เพราะเป้าหมายอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา รูปแบบการดำเนินชีวิตอาจเปลี่ยนไป หรือเติบโตก้าวหน้าในหน้าที่การงาน แล้วมีรายรับมากขึ้น ก็สามารถเพิ่มสัดส่วนเงินออมขึ้น เพื่อให้เก็บเงินได้ครบตามเป้าหมายเร็วขึ้นด้วย
การมีเป้าหมายที่ชัดเจนจะทำให้เราวางแผนใช้จ่ายเงินก้อนใหญ่ได้ดี จะมองออกมากขึ้นว่าอะไรควรตัดสินใจซื้อหรือไม่ควรซื้อ เช่นถ้าหากวางแผนไว้ มีเป้าหมายหลายอย่างแล้วไม่สามารถทำตามเป้าหมายได้พร้อมกันทุกข้อ ก็ต้องจัดเรียงสำดับเป้าหมายที่มีความสำคัญที่แท้จริง ไว้เป็นลำดับแรกๆ ที่จะทำให้สำเร็จเสียก่อน
ทั้งนี้ หากมีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี อย่าลืมเลือกเครื่องมือการออมที่ได้สิทธิลดหย่อนภาษีด้วย เช่น SSF, RMF, ประกันชีวิตและประกันสุขภาพ เป็นต้น เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ในส่วนนั้นและสามารถเก็บออมเงินเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น